ไพมีโทรซีนจุดจบของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (ตอนที่ 1)

ข่าวสารผลิตภัณฑ์

ไพมีโทรซีนจุดจบของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

(ตอนที่ 1)

แมลงปากดูดที่สำคัญในนาข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว เพลี้ยจักจั่นสีเขียว และเพลี้ยกระโดดปีกลายหยัก ซึ่งพบได้ในแถบเอเชีย ที่สำคัญมากคือเพลี้ยจักจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เนื่องจาก แม้ประชากรเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงได้ ในช่วงที่มีการระบาดประชากรของแมลงจำนวนมาก จะทําให้เกิดอาการข้าวเหี่ยวแห้งทั้งแปลง นอกจากการดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวทำให้เกิดความเสียหายให้ข้าวโดยตรงแล้ว เพลี้ยจักจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนำโรคไวรัสมาสู่ต้นข้าวด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่าเพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดดหลังขาว และเพลี้ยกระโดดปีกลายหยัก ไม่ค่อยพบการระบาดรุนแรงเหมือนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดังนั้นจะขอกล่าวรายละเอียดเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเท่านั้น

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (Brown plant hopper:BPH) มีชื่อวิทยาศาสตร์: Nilaparvata lugens เป็นแมลงอันดับ:  เฮมิพเทอร่า(Hemiptera)วงศ์:  Delphacidae ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆเรียก  อาการไหม้ ( hopper burn ) นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก ( rice ragged stunt ) หรือ “โรคจู๋” มาสู่ต้นข้าวทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียว แคบและสั้น    ใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว และ ขอบใบแหว่งวิ่น ถ้าระบาดในช่วงข้าวออกรวงจะทำให้เมล็ดลีบ ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกในปี 2520 สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการระบาด มีหลายปัจจัย เช่น การปลูกข้าวตลอดทั้งปี การปลูกข้าวพันธุ์ไม่ต้านทาน การใช้สารเคมีบางชนิด(ปรีชา, 2545)

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จะมีการพัฒนาของปีก 2 รูปแบบ คือ: ปีกยาว(macropterous) และ รูปร่างปีกสั้น(brachypterous) รูปแบบปีกยาวจะมีปีกด้านหน้าและหลังปกติ และปรับให้เข้ากับการอพยพย้ายถิ่นเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ เช่นเดียวกับในกรณีพืชอาหารมีช่วงสั้นๆ หลังจากอพยพบนต้นข้าวแล้ว ตัวเมียที่มีปีกจะออกลูกรุ่นต่อไป ซึ่งลูกตัวเมียส่วนใหญ่พัฒนาเป็นปีกสั้น และตัวผู้จะเป็นปีกยาว ส่วนรูปแบบปีกสั้น โดยทั่วไปมีขนาดใหญ่กว่าและมีขายาวและพบอวัยวะวางไข่(ovipositors) มีปีกที่สั้นและเล็กกว่ามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งปีกหลังซึ่งเป็นพื้นฐานในการบิน มีหลายปัจจัยที่ทำให้เพลี้ยกระโดดพัฒนารูปร่างของปีกที่แตกต่างกัน การเพิ่มขึ้นของประชากรตัวอ่อน(nymphal) ในช่วงที่พืชอาหารมีคุณภาพและปริมาณที่ลดลง จะกระตุ้นให้สร้างปีกยาว นอกจากนี้ช่วงเวลาระหว่างกลางวันที่สั้นลง และอุณหภูมิที่ลงลง จะสนับสนุนสร้างประชากรที่ปีกยาว

เพลี้ยกระโดดเพศเมียที่ไม่มีปีก(Brachypterous) จะวางไข่ได้ 300 หรืออาจมากกว่า 700 ฟอง ในขณะที่เพลี้ยกระโดดเพศเมียที่มีปีก(macropterous) วางไข่ประมาณ 100 ฟอง ไข่จะถูกวางแทรกเป็นแนวเส้นตรงโดยทั่วไปจะพบตามบริเวณแนวตรงกลางของแผ่นใบ ไข่ใช้เวลาประมาณ 6 ถึง 9 วัน จึงจะฟักเป็นตัวอ่อน ระยะตัวอ่อน(Nymph)ที่เพิ่งฟักออกมามีสีขาวปุยฝ้ายภายในหนึ่งชั่วโมง จึงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมม่วง ระยะตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบพืช ตัวอ่อนมี 5 วัย(instars) ก่อนที่จะเป็นตัวเต็มวัย ระยะเวลาที่ใช้เป็นตัวอ่อนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพอาหาร ความหนาแน่นของตัวอ่อน และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตัวเต็มวัย( Adult ) ตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทางด้านหลังมีสีน้ำตาลอ่อน และท้องสีน้ำตาล ตัวเต็มวัยเพศเมียมีความยาวประมาณ 5 มม. และเพศผู้ยาว 4.5 มม. ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ 8 ถึง 12 วันภายใต้สภาพอากาศปกติ ตัวเต็มวัยจะผสมพันธุ์กันในวันที่เริ่มเป็นตัวเต็มวัย และเพศเมียเริ่มวางไข่หลังจากวันที่มีการผสมพันธุ์ ระยะเวลารวมวงจรชีวิตตั้งแต่ออกจากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยอยู่ระหว่าง 20 ถึง 25 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ในเขตร้อนอาจจะใช้เวลาสั้นลงประมาณ 10 ถึง 18 วัน

ผมจะพาท่านผู้อ่านมาย้อนรอยช่วงปี ปลายปี 2552 - 2553 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเกิดการระบาดอย่างรุนแรงหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และไทย สำหรับประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตรรายงาน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2552 ว่ามีการระบาดมากกว่า 10 จังหวัด พื้นที่ความเสียหายมากกว่า 1 ล้านไร่ ผลการประชุมร่วมระหว่างกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรที่ห้องประชุมปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 มีมติให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมการข้าวทำการวิจัยเพื่อหาคำแนะนำโดยเร่งด่วน ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้ทำการทดสอบหาสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในช่วงนั้น เพื่อแนะนำเกษตรกร  และนำไปใช้สำหรับในวัน Lock and Seal Cleaning Day โดยมีการกำหนดให้รณรงค์พ่นสารเคมีพร้อมๆกันในพื้นที่การระบาดมากกว่า 10 จังหวัด ณ ขณะนั้น  ผู้เขียนรับผิดชอบเป็นหัวหน้าทีมงานทดสอบประสิทธิภาพสารเคมี ผลการทดลองสรุปได้ว่าในสภาพการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับรุนแรง การพ่นสารทุกชนิดที่เคยแนะนำในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพ่นแบบสารเดี่ยว หรือการผสมสารที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน หรือผสมสารฆ่าแมลงกับสารเสริมประสิทธิภาพ(Adjuvants) ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทุกวิธีการมีประสิทธิภาพต่ำกว่า 50%

ดังนั้นวิธีการที่จะลดความรุนแรงของการระบาดที่เหมาะสมที่สุดในช่วงนั้น ผู้เขียนเสนอให้ งดการปลูกข้าวในช่วงนั้นอย่างน้อย 2 เดือน  เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  แต่วัน Lock and Seal Cleaning Day ยังคงดำเนินการต่อไปเนื่องจากจัดทำโครงการและนัดเกษตรกรไว้เรียบร้อยแล้ว แต่หลังจากดำเนินการในที่สุดการรบครั้งนี้ เราแพ้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพราะไม่สามารถกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ แถมพื้นที่โรคใบหงิกที่มีสาเหตุจากไวรัส เริ่มขยายวงกว้าง ดังนั้น  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อแก้ไขปัญหานั่นคือ รณรงค์ให้เกษตรกรไถนาทิ้งและงดทำนาอย่างน้อย 2 เดือน โดยชดเชยให้เกษตรกรได้รับค่าชดเชยประมาณ 2,300 บาท ออกค่าไถทิ้งให้ฟรี และให้เมล็ดพันธุ์ข้าวอีกรายละ 15 ไร่ จากประสบการครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่า การรบย่อมมีแพ้-ชนะ การป้องกันกำจัดแมลงก็เช่นกัน บางครั้งการพ่นสารเคมีไม่ใช่คำตอบสุดท้ายครับ

ต่อมาในต้นปี 2553 ผู้เขียนดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอีกครั้งมีทั้งสารเดี่ยวและสารรูปแบบผสมกันในถัง(Tank mixes) ปรากฏว่ามีสารที่ใช้พ่นเดี่ยวๆชนิดเดียวที่ได้ผลดีคือสาร ไพมีโทรซีน ส่วนสารอื่นต้องผสมกันจึงพอจะได้ผล หลังจากที่สารไพมีโทรซีนวางจำหน่ายปรากฏว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็ไม่เคยระบาดรุนแรงเหมือนในอดีตอีกเลย ต่อมาผู้เขียนได้มีโอกาสทั้งเป็นผู้ควบคุมแปลงทดลองการขึ้นทะเบียนจนถึง ปี 2560 จนภายหลังลาออกจากราชการก็ได้มีโอกาสทำงานวิจัยกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาโดยตลอด จากประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ยังคงพบว่าสารไพมีโทรซีน ยังคงมีประสิทธิภาพดี แม้ว่าจะใช้อัตราเดิม(45-60กรัม ต่อไร่) ส่วนสารชนิดอื่นๆการใช้แบบเดี่ยวๆไม่ได้ผล จำเป็นต้องผสมกันในถัง(Tank mixes) จึงจะพอใช้ได้

โปรดติดตามเรื่อง ไพมีโทรซีนจุดจบของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล(ตอนที่ 2) ตอน รู้ลึกเรื่องสารไพมีโทรซีน

ขอขอบคุณ คุณไพโรจน์ ศรีจันทรา ที่อนุเคราะห์ภาพถ่าย

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

  1. กรมการข้าว.  2563.  กรมการข้าวห่วงใยชาวนา เตือนภัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล.  https://webold.ricethailand.go.th/web/index.php/mactivities/8412-2020-06-22-15-31-51#
  2. กรมการข้าว.  2565.  เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (brown planthopper, BPH).   http://webold.ricethailand.go.th/rkb3/Insect.htm
  3. ปรีชา วังศิลาบัตร.  2545.  นิเวศวิทยาของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและการควบคุมปริมาณ.  เอกสารวิชาการกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ117 หน้า.
  4. สุเทพ สหายา  จีรนุช เอกอำนวย  วนาพร วงษ์นิคง  พวงผกา อ่างมณี สรรชัย เพชรธรรมรส และเกรียงไกร จำเริญมา .  2553.  ทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว.  ว.กีฏ.สัตว. 28(1) : 3-13.
  5. Kevin Gorman 1, Zewen Liu, Ian Denholm, Kai-Uwe Brüggen, Ralf Nauen.  2008.   Neonicotinoid resistance in rice brown planthopper, Nilaparvata lugens. Pest Manag Sci. 2008 Nov;64(11):1122-5. doi: 10.1002/ps.1635. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18803175/ (5 กรกฎาคม 2565)
  6. Yanhua Wang 1, Jin Chen, Yu Cheng Zhu, Chongyong Ma, Yue Huang, Jinliang Shen .  2008.  Susceptibility to neonicotinoids and risk of resistance development in the brown planthopper, Nilaparvata lugens (Stål) (Homoptera: Delphacidae).  2008. Pest Manag Sci. 2008 Dec;64(12):1278-84. doi: 10.1002/ps.1629.  https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18680157/ (5 กรกฎาคม 2565)