หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจัดการอย่างไรให้ได้ผล

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จัดการอย่างไรให้ได้ผล

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจัดการอย่างไรให้ได้ผล?

สุเทพ สหายา

อดีตผู้อำนวยการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

หนอนกระทู้ฟอลอามี่ หรือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด(fall armyworm, Spodoptera frugiperda) เป็นแมลงท้องถิ่นในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปอเมริกา ปี 2559 รายงานพบการระบาดในทวีปอัฟริกา และมีการเตือนภัยการระบาดว่าลุกลามไปทั้งทวีปอัฟริกา ปี2561มีรายงานพบการระบาดในประเทศอินเดีย เมียนมาร์ และหลายประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิค ปี 2562 มีรายงานพบการระบาดในประเทศจีน ในประเทศไทยเริ่มพบการระบาดเมื่อปี 2561

คำว่า อาร์มีเวิร์ม (armyworm) เป็นคำเรียกชื่อหนอนหลายชนิด เช่น หนอนกระทู้หอม หรือหนอนหนังเหนียว(Beet armyworm) ซึ่งใช้เรียกชื่อแมลงที่มีการระบาดและทำลายพืชรุนแรง ส่วนฟอลอาร์มีเวิร์ม (fall armyworm) เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกในระยะหนอนแมลงที่มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Spodoptera frugiperda (J.E. Smith) เป็นแมลงที่อยู่ใน อันดับเลพิดอพเทอร่า (Lepidoptera) วงศ์นอคทูอิดี้ (Noctuidae) ซึ่งแมลงในวงศ์นี้ในบ้านเรา ได้แก่ หนอนกระทู้คอรวงหรือหนอนกระทู้ควายพระอินทร์ Mythimna separata Walker หนอนเจาะสมอฝ้าย Helicoverpa armigera (Hübnerหนอนกระทู้ผัก Spodoptera litura (Fabricius) และหนอนกระทู้หอม Spodoptera exigua  (Hübner) หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นแมลงที่สำคัญระดับโลก และปัจจุบันถูกเรียกว่า แมลงที่ทำลายล้าง(Devastating insect)

เหตุผลที่ทำให้หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ฉายาว่าเป็นศัตรูที่ทำลายล้าง(Devastating insects)

  • มีรายงานว่าการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในแถบอเมริกากลางภายใต้สภาพที่ไม่มีการป้องกันกำจัด จะมีผลผลิตเสียหายมากกว่า 70% และที่บราซิลรายงานในกรณีระบาดในช่วงหลังปลูกและมีหนอนขนาดใหญ่ต้นอ่อนจะถูกทำลายเสียหายถึง 100% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 พันล้านดอลล่าร์
  • เป็นแมลงที่มีความสามารถในการออกลูกหลานจำนวนมาก (Highly productive rate) ผีเสื้อเพศเมีย วางไข่ได้ถึง 2000 ฟอง
  • เป็นแมลงที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่(Highly migratory pest) ตัวเต็มวัยสามารถบินได้ไกลนับ 100 กิโลเมตรในเวลาชั่วข้ามคืน บางครั้งบินได้ไกลถึง 500 กิโลเมตร ในช่วงที่บนหาพืชอาหารเพื่อวางไข่โดยอาศัยลมช่วย หนอนมีความพร้อมที่จะอพยพเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่ใหม่ที่มีพืชอาหารเหมาะสม
  • เป็นแมลงที่ไร้พรหมแดน (Transboundary pest) : มีรายงานว่าพบการระบาดมากถึง 90 ประเทศ, จากการที่มีความสามารถในการแพร่กระจาย หรือพฤติกรรมการบินที่มีความแข็งแกร่งดังกล่าวแล้ว
  • ในเขตร้อนสามารถพบได้ตลอดทั้งปี สามารถพบได้ 8 – 9 ชั่วอายุ (generations)และไม่มีระยะพักตัว (diapause) ทำให้เป็นศัตรูที่สามารถระบาดทำความเสียหายได้ทั้งปี
  • ลักษณะการทำลายและพฤติกรรมการกิน ตัวเต็มวัยจะหลบซ่อนตอนกลางวัน ระยะหนอนมักหลบซ่อนตามพื้นดิน หรือเศษซากพืช มีพฤติกรรมชอบกินยอดอ่อน โดยเฉพาะข้าวโพดจะอยู่ในส่วนลึกของยอด ทำให้หาตัวได้ยากนอกจากนี้จึงเป็นการยากที่แมลงห้ำจะเข้าทำลาย และการพ่นสารให้ถูกตัว
  • มีพฤติกรรมการกินที่หลากหลาย หนอนสามารถกินได้ทั้งใบ ฝัก ดอก ไหม ต้นอ่อน หรือสามารถกินได้ทุกส่วนของข้าวโพดที่อยู่เหนือพื้นดิน ในพื้นที่การระบาดรุนแรงจะกัดกินทุกชิ้นส่วนของต้นข้าวโพดจนเหลือแต่ลำต้นและก้านใบซึ่งเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง
  • การป้องกันกำจัดยาก มีความทนทานต่อสารเคมีหลายชนิด และสามารถพัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง

ปัจจุบันหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก (Global distribution of fall armyworm) เป็นแมลงศัตรูที่กินพืชอาหารหลากหลายชนิด (Polyphagous pest) มีพืชอาศัย (Host Crops)มากกว่า 350 ชนิด พืชที่หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดชอบส่วนมากเป็นพืชตระกูลหญ้า เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มิลเล็ต อ้อย และวัชพืชตระกูลหญ้า โดยเฉพาะข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อน มีการแบ่งหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเป็น 2 สายพันธุ์ (strains) 

  • สายพันธุ์ข้าวโพด-ชอบกินข้าวโพด ฝ้าย ข้าวฟ่างฯลฯ

สายพันธุ์ข้าว – ชอบกินข้าว และพืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเบอมิวดา และหญ้าจอห์นสัน

รูปร่างทางกายภาพภายนอกของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเหมือนกันทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่พืชอาหารหลักแตกต่างกัน รวมทั้งมีพฤติกรรมการวางไข่และองค์ประกอบของสารฟีโรโมนที่แตกต่างกัน พืชอาหารที่สำคัญอื่นๆ เช่น ฝ้าย ถั่วเหลือง ข้าวสาลี บาเล่ย์ อัลฟัลฟ่า ถั่วลิสง โอ๊ต โคลเวอร์ ยาสูบ ฯลฯ พืชผัก เช่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง ผักกาด กะหล่ำ ผักกาดหัว หอม ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบได้ในแอปเปิล องุ่น พีช มะละกอ ส้ม และไม้ผลอื่นๆ

วงจรชีวิต

สำหรับชีวประวัติหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในต่างประเทศรายงานว่าในช่วงฤดูร้อนมีวงจรชีวิตประมาณ 30 วัน แต่ถ้าเป็นช่วงอบอุ่นและหนาวจะมีวงจรชีวิตยาวนานถึง 60 – 90 วัน ดังนั้นในแต่ละปีจำนวนรุ่น (generation) ขึ้นกับสภาพอากาศ ผีเสื้อเพศเมียวางไข่ได้ถึง 1,500 ฟอง 

ไข่ ไข่คล้ายโดม (dome shaped) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.4 มิลลิเมตร สูงประมาณ 0.3 มิลลิเมตร เพศเมียชอบวางไข่ใต้ใบ แต่กรณีการระบาดรุนแรงและมีประชากรมากๆ สามารถวางไข่ได้ทุกส่วนของพืช ช่วงฤดูร้อนระยะไข่ 2 -3 วัน

หนอน ระยะหนอนมี 6 ระยะ ระยะหนอนใช้เวลา 14 – 30 วัน  แต่ละระยะแปรผันไปตามสภาพทางกายภาพและอากาศ ในสภาพห้องปฏิบัติการอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ระยะหนอนตั้งแต่วัย 1-6 กินเวลา 3.3, 1.7, 1.5, 1.5, 2.0 และ 3.7 วัน ตามลำดับ ระยะหนอนโตเต็มที่มีขนาดยาว 1.5 – 2.0 นิ้ว (3851 มม.) ระยะหนอนวัยสุดท้ายจะเป็นระยะที่ทำลายอย่างรุนแรง จะมองเห็นรูปตัววาย (Y) หัวกลับ บริเวณส่วนหัวของหนอน  และส่วนท้ายจะเห็นจุดดำ 4 จุด ในระยะหนอนมีพฤติกรรมในการกัดและกินกันเองโดยเฉพาะหนอนขนาดใหญ่จะกินหนอนขนาดเล็ก (Cannibalism)

ดักแด้ หนอนเมื่อโตเต็มที่จะทิ้งตัวลงดิน ดักแด้จะทำรังที่ทำจากดินและใยไหมมาหุ้มตัว  มีขนาด 20 – 30 มิลลิเมตร เข้าดักแด้ในดินลึก 2 – 8 เซนติเมตร ระยะดักแด้ 7 – 37 วัน 

ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืน เมื่อกางปีกกว้าง 32 - 40 มิลลิเมตร มีอายุประมาณ  7-21 วัน เฉลี่ย 10 วัน และผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วงกลางคืนส่วนกลางวันจะหลบซ่อน และผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ในช่วงแรกๆหลังออกจากดักแด้ 3 – 5 วัน จะวางไข่เป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มมีไข่ 100 – 200 ฟอง เพศเมีย 1 ตัววางไข่ได้ประมาณ 1,500 ฟอง อาจสูงสุดถึง 2,000 ฟอง

พืชอาหาร

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มีพืชอาหารหลักเป็นพืชตระกูลหญ้า รวมทั้งข้าวโพด ปัจจุบันมีรายงานว่ามีพืชอาศัยมากกว่า 350 ชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ข้าวบาเล่ย์ ข้าวสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ยาสูบ ผักกาดแอปเปิล องุ่น ส้ม มะละกอ สตรอเบอรี่ ไม้ดอกหลายชนิด พืชผักหลายชนิด รวมทั้งวัชพืชตระกูลหญ้า ระยะตัวเต็มวัยซึ่งเป็นผีเสื้อจะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้

แนวทางการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดโดยวิธีผสมผสาน

1. การใช้พันธุ์พืชต้านทาน (Host plant resistant) ในต่างประเทศมีการอนุญาตให้ใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม จึงมีหลายพืชที่มีการตัดต่อยีนบีทีเพื่อต้านทานหนอน เช่น ข้าวโพดบีที ฝ้ายบีที แต่บ้านเรายังไม่มีการอนุญาตให้ปลูก จึงยังคงไม่มีพืชต้านทานหนอนชนิดนี้ รวมทั้งหนอนผีเสื้อชนิดอื่นๆ

2. การใช้วิธีเขตกรรม (Cultural control) เช่น การไถตากดิน และการเก็บเศษซากพืชอาหาร เพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดินและปลูกพืชสลับหรือหมุนเวียนเพราะการเปลี่ยนพืชจะทำให้พืชอาหารไม่เหมาะสมการออกลูกหลานจะลดจำนวนลง 

3. การใช้วิธีกล (Mechanical control)

การเก็บกลุ่มไข่และหนอนทำลาย โดยเฉพาะหนอนขนาดใหญ่ซึ่งสารเคมีใช้ไม่ได้ผลจะช่วยลดการระบาดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เนื่องจากเข้าดักแด้ในดินโดยเฉพาะใต้เศษซากพืช และตามร่องรอยแยกระแหงของดินใต้โคนต้น การเก็บดักแด้มาทำลายจะช่วยให้การจัดการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

4. การใช้สารชีวภัณฑ์ (Bio-insecticides) ในกรณีแปลงพืชอินทรีย์สามารถใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารสกัดจากพืชและสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ การใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา หางไหล โล่ติ๊น ฝักคูน หรือสารจากน้ำส้มควันไม้ จะช่วยลดการบินเข้ามาวางไข่ได้ การใช้เชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ใช้ได้ทั้งสายพันธุ์ไอซาวาย และเคอสตากี้ โดยใช้อัตรา 60 – 100 กรัมหรือมิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

5. การใช้สารเคมี (Chemical control)

5.1  การใช้สารคลุกเมล็ด(Seed treatment) สำหรับสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ได้แก่ 1)กลุ่ม28+4 ไซแอนทรานิลิโพรล + ไทอะมีทอกแซม 24+24%FS (ฟอร์เทนซา ดูโอ) และ2)กลุ่ม28 คลอแรนทรานิลิโพรล 62.5%FS(ลูมิเวีย) อัตราการใช้100ซีซีคลุกเมล็ดพันธุ์ 15 กก. ซึ่งเหมาะสมสำหรับใช้ในพื้นที่พบการระบาดเป็นประจำ

5.2 การใช้สารแบบพ่นทางใบ(Foliar spray)

สารเคมีที่สามารถนำมาใช้กำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จากข้อมูลคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร และสารที่ผ่านการขึ้นทะเบียนอนุญาตให้ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแล้ว สามารถจัดกลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์(Mode of action)ของ IRAC ได้ดังนี้

  • กลุ่ม 5 สไปนโทแรม 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร สไปนีโทแรม 25% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 6 อิมาเมกตินเบนโซเอ 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร อิมาเมกตินเบนโซเอ 5% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 13 คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 22 อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

  • กลุ่ม 28 คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

  • สารผสมสำเร็จรูป กลุ่ม 18+5 เมทอกซีฟีโนไซด์ + สไปนีโทแรม 30% + 6% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร นอกจากนี้ยังมีสารผสมที่ขึ้นทะเบียนสำหรับใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซินเจนทา ครอปโพรเทคชั่น คือ สารกลุ่ม 15 + 6 ลูเฟนนูรอน+อีมาเมกตินเบนโซเอต 40+10%WG(คิวเรียม) เหมาะสำหรับพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง หรือพื้นที่ที่มีการต้านทานการพ่นสารเดี่ยวๆไม่ได้ผล การพ่นสารสำเร็จรูปนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ทางกายภาพ และทางเคมี เนื่องจากผสมมาเป็นสูตรเดียวกัน ซึ่งจะดีกว่าการที่เกษตรกรนำสาร 2 ชนิดมาบวกกันเองเนื่องจากอาจมีความไม่เข้ากันทางกายภาพเกิดการแยกชั้น ตกตะกอน หรือสารต้านฤทธิ์กันทางเคมี(Chemical incompatible หรือ Antagonists)

หมายเหตุ ควรใช้ขณะที่หนอนฟักจากไข่ใหม่ๆและหนอนมีขนาดเล็ก หรือไม่เกินวัย 3 เนื่องจากหนอนขนาดใหญ่จะทนทานต่อสารเคมี หรือต้องใช้อัตราสูงมากๆ นอกจากนี้มีรายงานในต่างประเทศว่าหนอนกระทู้ข้าวโพดดลายจุด สร้างความต้านทาน(ดื้อยา)ต่อสารเคมีหลายชนิด รวมทั้งบีที เนื่องจากในต่างประเทศมีการปลูกข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมโดยใส่ยีนบีทีเข้าไป หนอนจึงคัดเลือกพันธุกรรมปรับตัวดื้อต่อเชื้อบีที ดังนั้น ควรวางแผนการใช้สารเคมีสลับกลุ่มกันเป็นช่วงๆโดยใช้สารเคมีที่มีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกันไม่เกิน 1 เดือน หรือมีบางช่วงใช้เชื้อบีทีมาสลับสารเคมีเพื่อให้หนอนอ่อนแอเมื่อได้รับเชื้อบีที แล้วพ่นสารเคมีตามหลัง จะได้ผลกว่าการใช้สารเคมีอย่างเดียว ดังตัวอย่างด้านล่าง

 

ข้าวโพดอายุ 1-30 วัน

ข้าวโพดอายุ 31-60 วัน

ข้าวโพดอายุ 61 วันขึ้นไป

ใช้สารกลไกอื่นๆที่ไม่ใช่กลุ่ม ก หรือเชื้อบีที  

ใช้สารกลไกการออกฤทธิ์กลุ่ม ก

ใช้สารกลไกอื่นๆที่ไม่ใช่ กลุ่ม ก หรือเชื้อบีที

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์.   2565.  หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Armyworm).

Anonymous.  2018.  Fall armyworm.  

Christian H. Krupke, John L. Obermeyer and Larry W. Bledsoe.  2017. CORN INSECT

CONTROL RECOMMENDATIONS. Purdue University.   https://extension.entm.purdue.edu/publications/E-219.pdf

Prasanna, B.M. J.E. Huesing, R. Eddy and V.M. Peschke. 2018. (Editors).  Fall Armyworm in

Africa:A GUIDE FOR INTEGRATED PEST MANAGEMENT(First Edition). https://repository.cimmyt.org/xmlui/bitstream/handle/10883/19204/59133.pdf?sequence =1&isAllowed=y

Rwomushana I, 2019.  Spodoptera frugiperda (fall armyworm). Invasive Species Compendium.

 Wallingford, UK: CABI. DOI:10.1079/ISC.29810.20203373913