รู้จักเชื้อ รู้จักโรคพืช

ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล
รัติยา พงศ์พิสุทธา
พิสุทธิ์ เขียวมณี
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

คุณภาพของผลผลิตเกษตรเกิดจากความใส่ใจในระหว่างการผลิตของเกษตรกร การออกสำรวจแปลงผลิตในช่วงเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ส่งแสงเต็มที่ ทำให้เกษตรกรเห็นอาการผิดปกติในพืชที่เราผลิต อาการผิดปกติของพืชที่พบ หมายถึง ส่วนหนึ่งของพืชหรือทั้งต้นที่ดำรงชีวิตไม่ถูกต้องตามหน้าที่ หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ หรือกิจกรรมของพืชเกิดความเสียหาย หรือจนถึงเป็นเหตุให้พืชตาย

อาการผิดปกติในพืชที่พบเกิดจากสามสาเหตุ ได้แก่

1) การเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพันธุ์

2) อาการที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม และ

3) อาการที่เกิดจากเชื้อสาเหตุโรคพืช

ทั้งนี้อาการผิดปกติที่จัดเป็นโรคในพืชอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่าโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต อาการผิดปกติที่เกิดจากเชื้อสาเหตุจึงเรียกว่า อาการโรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีความสำคัญมาก

อาการผิดปกติของโรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต สร้างความสับสนให้กับการวินิจฉัยเสมอ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่สิ่งที่พบเห็นคือร่องรอยเชื้อราอื่นขึ้นมากินเศษซากพืชที่ตายแล้ว ตัวอย่างโรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตได้แก่ สภาพอุณหภูมิสูง ความชื้นน้อย การได้รับปุ๋ยมาก ทำให้พืชแสดงอาการใบแห้ง (ภาพที่ 1) ที่พบส่วนของใบแก่หรือใบล่างๆ ให้เห็นเป็นอาการขอบใบแห้ง  สภาพแวดล้อมอื่นๆที่ส่งผลต่ออาการผิดปกติเช่น กรด-ด่างในดินที่มีผลต่อความไม่สมดุลของธาตุอาหารในดิน ในสภาพดินกรดจัด (น้อยกว่า 5) หรือด่างจัด (มากกว่า 8)  ให้ธาตุอาหารพืชละลายออกมาได้ผิดปกติ จนพืชแสดงอาการผิดปกติออกมา

ใบพืชที่แสดงอาการปลายใบแห้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพที่ 1 การสังเกตใบพืชที่แสดงอาการปลายใบแห้งเมื่อระยะเริ่มแสดงอาการใหม่ๆ โดยใช้กล้องกำลังขยาย จะพบใบแห้งโดยไม่พบกลุ่มเชื้อราที่เข้าทำลาย

 

ตารางที่ 1 การสังเกตอาการที่แสดงออกสัมพันธ์กับสภาพที่มีโอกาสเกี่ยวข้อง
ข้อสังเกตของสภาพแวดล้อมที่มีโอกาสส่งผลต่ออาการผิดปกติ

อาการที่แสดงออก

1 ดินเค็ม...อากาศแห้ง...ใส่ปุ๋ยแล้วไม่ละลาย       ขอบใบแห้งขนาดใหญ่จากปลายใบ
2 สภาพกรดด่างที่สูงหรือต่ำเกินค่าปกติ
  • ใบสีจางผิดปกติ
  • รูปร่างพืชผิดปกติ
3

อากาศแห้งหรือขาดน้ำ

  •  ใบหรือยอดสลดในเวลากลางวัน และฟื้นกลับคืนช่วงเย็น
  • รูปร่างพืชผิดปกติ
  • ตาดอกแห้งและร่วง
4 น้ำท่วม ขังน้ำ ให้น้ำมากเกินไป
  • ใบแก่แสดงอาการสีเหลือง
  • ดอกสดร่วงหล่น
5 ขาดธาตุอาหาร
  • ปลายใบส่วนยอด แสดงอาการเหลือง
  • เนื้อใบเปลี่ยนสี

 

เชื้อสาเหตุโรคพืช

อาการโรคพืชจากสิ่งที่มีชีวิตที่เกิดจาก เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไฟโตพลาสมา เชื้อไวรัส หรือ ไวรอยด์ และไส้เดือนฝอยศัตรูพืช เกษตรกรสามารถติดตามการพัฒนาอาการโรคพืชในแปลง เมื่ออาการโรคดังกล่าวมีการพัฒนาเพิ่มความรุนแรงขึ้น แสดงว่าอาการโรคพืชดังกล่าวเกิดจากสิ่งที่มีชีวิต

 

เชื้อรา

กลุ่มเชื้อที่ทำให้เกิดโรคแก่พืชได้หลากหลาย เช่น ใบเป็นแผลจุด ใบไหม้ ใบติด ใบเหี่ยว รากเน่า โคนเน่า ผลเน่า เมล็ดเน่า ต้นกล้าเน่า หรือแห้งตายทั้งต้น เชื้อราเป็นเส้นใยที่ดูดกินอาหารจากส่วนของพืช การแพร่ระบาดโดยสปอร์ปลิวผ่านทาง น้ำ ลม หรือติดไปกับส่วนของพืชและดินที่เป็นโรค เชื้อราสามารถพักตัวอยู่ในส่วนของพืชและดินเป็นเวลานาน

 

เชื้อแบคทีเรีย

สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก มีรูปร่างเป็นแท่ง ใช้การแบ่งเซลล์ สามารถแพร่กระจายไปกับดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ และวัสดุการเกษตร ทำให้พืชแสดงอาการใบจุดนูน หรือใบจุด ใบไหม้ เหี่ยว และเน่าเละ การตรวจสอบใช้การย้อมสีเซลล์และตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ขยาย แบคทีเรียสาเหตุโรคพืชนอกจากพบบนพืชที่เป็นโรคแล้วยังสามารถพักตัวอยู่ในดิน หรืออยู่กับเมล็ดพันธุ์ได้

 

ไวรัส หรือไวรอยด์

อนุภาคสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ไวรัสประกอบด้วยโปรตีน และสารพันธุกรรม ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือกล้องจุลทรรศน์ ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ทำให้พืชแสดงอาการผิดปกติ แสดงอาการ ใบเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูปร่าง พืชแคระแกร็น มีการถ่ายทอดทางแมลงบางชนิดเป็นพาหะ ติดไปกับการปฏิบัติหรืออุปกรณ์การเกษตร และส่วนของเมล็ดหรือท่อนพันธุ์

 

ไฟโตพลาสมา

เชื้อเป็นเซลล์ขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย แต่มีขนาดใหญ่กว่าไวรัส ไม่มีผนังเซลล์ ทำให้มีรูปร่างไม่แน่นอน อาศัยอยู่ในท่ออาหารของพืช อาการส่วนใหญ่ที่พืชแสดงคือ ใบเป็นสีเหลืองหรือขาว แตกเป็นพุ่ม หรือทำให้เกิดอาการคล้ายใบเป็นกระจุก แมลงบางชนิดเป็นพาหะ เช่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน และถ่ายทอดโรคได้ โดยต้นฝอยทอง (dodder) หรือการติดตาเทียบกิ่ง

 

ไส้เดือนฝอย

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวไม่แบ่งเป็นปล้อง มีเพศแยกจากกัน ต่างจากไส้เดือนธรรมดา มีขนาดค่อนข้างเล็กประมาณ 0.2 - 2 มิลลิเมตร มักเข้าทำลายรากพืชทำให้เกิดอาการรากปม รากเป็นแผล ไส้เดือนฝอยบางชนิดเป็นพาหะนำโรคไวรัสพืช การเข้าทำลายพืชของไส้เดือนฝอยรากปมเมื่อเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงจะใช้รากให้เป็นแหล่งอาหาร จึงทำให้พืชแสดงอาการรากบวมโต หรือเป็นปุ่มปม บางครั้งทำให้ปลายรากกุด ส่วนอาการที่แสดงบนต้นพืชคือ เหี่ยวเฉา แคระแกร็น ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลผลิตลดน้อย

 

เชื้อสาเหตุโรคพืชคือ สามารถเข้าทำลายพืชได้ดี โดยเฉพาะในช่วงที่พืชอ่อนแอ เมื่อพืชเกิดสภาพเครียดจากการปฏิบัติ ได้แก่ การขาดน้ำ การได้รับน้ำหรือความชื้นมากเกินไป การได้รับธาตุอาหารบางชนิดมากเกินไป สิ่งเหล่านี้เกิดได้จากการปฏิบัติในแปลง ทั้งนี้เชื้อสาเหตุโรคพืชเกิดได้จากพื้นที่เดิมมีอยู่แล้วในลักษณะพักตัว มาจากแปลงข้างเคียงทางลม ฝน หรือติดมากับส่วนขยายพันธุ์ในแปลง ดังนั้นการเข้าใจชนิดของเชื้อสาเหตุโรคพืชเพื่อเตรียมไปสู่สภาพการจัดการจึงเป็นสิ่งจำเป็น